การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ในพุทธปรัชญาเถรวาท

  • พระสุเมธ สุเมโธ (มีเนตร) มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด
  • พระมหาประภาส ปริชาโน มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด
  • สฤษฎ์ แพงทรัพย์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด

Abstract

            การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาหลักคำสอนเรื่องจิตในพุทธปรัชญาเถรวาท 2)ศึกษาหลักคำสอนเรื่องอารมณ์ในพุทธปรัชญาเถรวาท และ 3)ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ในพุทธปรัชญาเถรวาท วิทยานิพนธ์นี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งเน้นการวิจัยทางเอกสาร โดยศึกษาจากพระไตรปิฎกและจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง


           ผลการวิจัยเรื่องจิตในพุทธปรัชญาเถรวาทพบว่า จิต คือ ธาตุที่รู้อารมณ์หรือสิ่งที่รับรู้อารมณ์ จำอารมณ์ และรู้อารมณ์ได้ในทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ จิตนั้นจะเกิดดับสืบต่อกันไปอย่างไม่ขาดสายและรวดเร็วมากดุจกระแสน้ำ คือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป จิตสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้จากจิตของปุถุชนที่อยู่ภายใต้การครอบงำของกิเลสจนถึงจิตของอริยบุคคลที่หลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส, หลักคำสอนเรื่องอารมณ์ในพุทธปรัชญาเถรวาท คือสภาวรูปกับนามที่จิตและเจตสิกเกาะเกี่ยวยึดหน่วงเหนี่ยวเข้ามาเป็นอารมณ์ ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ และสิ่งใดก็ตาม ที่จิตสามารถรับรู้ได้ สิ่งนั้นเรียกว่า “อารมณ์”อารมณ์มีลักษณะที่เกิดได้กับรูปและนามที่ปรากฏขึ้นทางอายตนะ หรือทวารทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้นกาย และลักษณะภายในที่เป็นสภาวะนาม คือ เจตสิกส่วนที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดานอันเป็นพื้นเพหรืออุปนิสัยเดิม เรียกว่า จริต 6 อย่างซึ่งแสดงออกมาทางพฤติกรรม มีทั้งทำให้จิตเกิดความปรารถนาน่ายินดี เรียกว่า อิฏฐารมณ์ เช่น ลาภ ยศ สรรเสริญสุข และทำให้จิตเกิดความไม่ปรารถนาในสิ่งร้าย เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ คือสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกันกับอิฏฐารมณ์


           ความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ในพุทธปรัชญาเถรวาทเป็นกระบวนการรับรู้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องของจิตกับอารมณ์โดยอาศัยปัจจัย 3 ประการ คือทวาร 6 อารมณ์ 6 วิญญาณ 6 โดยทำหน้าที่การกระทบสัมผัสกันทำให้เกิดการรู้แจ้งสมบูรณ์ทางปัญจทวาร และมโนทวาร ทำหน้าที่รับใช้มนุษย์ 2 อย่างคือเป็นทางรับรู้โลกและหรือเป็นประตูที่มนุษย์จะเปิดออกไปรับอารมณ์ที่เป็นรสอร่อยของโลก, ความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตได้แก่ การพัฒนากาย วาจา ซึ่งมีความ สัมพันธ์กันกับความเคยชินและศรัทธา,จิต สัมพันธ์กันกับ สติ เพื่อผูกจิตให้อยู่กับอารมณ์ที่จะทำให้เกิดสมาธิ, และปัญญามีความสัมพันธ์กันกับ ปรโตโฆสะและโยนิโสมนสิการด้วยการลงมือปฏิบัติ ตามหลักของไตรสิกขา ได้แก่ศีล สมาธิ และปัญญา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดในพุทธปรัชญา คือความพ้นทุกข์อันเป็นความปรารถนาของผู้มีจิต และอารมณ์เป็นหนึ่งเดียวกันเท่านั้น

Published
2018-08-31
How to Cite
สุเมโธ (มีเนตร), พระสุเมธ; ปริชาโน, พระมหาประภาส; แพงทรัพย์, สฤษฎ์. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับอารมณ์ในพุทธปรัชญาเถรวาท. วารสารพุทธปรัชญาวิวัฒน์, [S.l.], v. 2, n. 2, p. 36-46, aug. 2018. ISSN 2730-2644. Available at: <http://705527.funfizzhk.tech/index.php/jbpe/article/view/849>. Date accessed: 01 dec. 2024.
Section
Research Article