การศึกษาเชิงวิเคราะห์การให้คำปรึกษาในรายบุคคลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาท

  • ลำปาง กำหอม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด
  • วิเชียร แสนมี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Abstract

         บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)เพื่อศึกษาทฤษฎีเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าในมุมมองทางจิตเวชศาสตร์และตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาท 2) เพื่อศึกษาการให้คำปรึกษาทั่วไปและการให้คำปรึกษาในรายบุคคลตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาท 3)เพื่อศึกษาวิเคราะห์คุณค่าการให้คำปรึกษาในรายบุคคลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาทโดยใช้วิธีวิจัยเอกสารคือศึกษาค้นคว้าจากคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และตำราอื่นๆ ประกอบ


           ผลการวิจัยพบว่า โรคซึมเศร้า หมายถึง การเจ็บป่วยด้านจิตเวชที่มีความผิดปกติด้านอารมณ์เศร้าเป็นหลักส่งผลให้เกิดความผิดปกติ ด้านความคิด ด้านร่างกายพฤติกรรมและสังคมมีอาการอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป สาเหตุเกิดจากความผิดปกติด้านร่างกาย ได้แก่ ความผิดปกติของสารสื่อประสาท ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบประสาทวิทยา ระบบประสาทส่วนกลาง พันธุกรรม โรคทางกาย และยาบางชนิด นอกจากนี้ยังมีสาเหตุจากด้านจิตใจ ความคิด การรับรู้ที่เป็นลบ และจากปัจจัยกระตุ้นจาก สิ่งแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นส่วนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ โรคซึมเศร้าแบ่งได้ 2 ประเภทตามเกณฑ์การวินิจฉัยของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน คือโรคซึมเศร้าหลัก และโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ปัจจุบันกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้แบบประเมิน 2 คำถาม  (2Q) สำหรับคัดกรองและใช้ 9 คำถาม (9Q) สำหรับวินิจฉัยและแบ่งระดับความรุนแรงของโรคซึมเศร้า ตั้งแต่ระดับเล็กน้อย ปานกลาง และระดับรุนแรง โรคซึมเศร้าระดับรุนแรงอาจจะมีอาการทางจิต หูแว่ว ประสาทหลอนและมีความคิดอยากฆ่าตัวตายร่วมด้วย การรักษา มี 3 วิธี โดยใช้ทั้ง 3 ด้านร่วมกัน ได้แก่  1) ด้านร่างกาย โดยใช้ยา ไฟฟ้า และการจำกัดกิจกรรม 2) ด้านจิตใจ โดยการใช้จิตบำบัด หรือการให้การปรึกษา 3) ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ได้แก่การจัดสถานที่ให้มีความปลอดภัย น่าอยู่ การจัดกิจกรรมบำบัดที่เหมาะสม ตามหลักคำสอนในพุทธปรัชญาเถรวาท โรคซึมเศร้า มีความหมายใกล้เคียงโรคทางใจ หรือความทุกข์ ได้แก่ ทุกข์ 12  ในทุกขอริยสัจ หรือทุกข์จร โดยเฉพาะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส คือเป็นความทุกข์ที่มาจากเหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมของชีวิตที่เกิดขึ้นเพียงครั้งคราวเกิดกับบุคคลมีสาเหตุมาจากกิเลสและตัณหาเข้าครอบงำจิตใจการรักษาโรคทางใจหรือทุกข์ ในทางพระพุทธศาสนานั้น จะต้องเริ่มจากการถามสังเกต และประเมินบุคลิกลักษณะของผู้ป่วยก่อนจึงจะสามารถนำหลักธรรมมาใช้กับบุคคลนั้นให้เหมาะตามจริตของแต่ละคน การรักษาสามารถทำได้ดังนี้ คือ  1) การศึกษาปฏิบัติธรรมโดยตรง 2) การนำเอาหลักพุทธธรรมในพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในชีวิต   3) การคบหากัลยาณมิตร       


           การให้คำปรึกษาเปรียบได้กับการแสดงธรรมหรือเทศนาธรรมในทางพระพุทธศาสนาการให้คำปรึกษาในรายบุคคลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาท หมายถึงกระบวนการที่ผู้ให้คำปรึกษา หรือกัลยาณมิตร ได้นำเอาหลักพุทธธรรมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามปัญหาที่เขามีอยู่  ที่เป็นทั้งหลักการ กระบวนการและวิธีการมาใช้ในการให้คำปรึกษา โดยช่วยชี้ทางให้เขาใช้ปัญญาในการดับทุกข์หรือปัญหา ให้ เข้าใจปัญหาภายใน คือความทุกข์ใจ สาเหตุที่ทำให้เกิดความทุกข์ ตามความเป็นจริงของธรรมชาติและสามารถแก้ปัญหาหรือความทุกข์ตามทางสายกลาง คือ มรรคมีองค์ 8 อย่างมีความสุขและพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผู้ให้คำปรึกษาจะต้องมีคุณสมบัติแห่งความเป็น “กัลยาณมิตร” ปฏิบัติตนในศีลธรรมอันดีและมั่นฝึกฝนขัดเกลาตนเองอยู่เสมอ เป็นบัณฑิตที่มีสติปัญญาและมีปฏิภาณ เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ คือ เป็นพหูสูต  มีจรรยาบรรณเป็นแนวปฏิบัติในการแสดงธรรม เข้าใจหลักพุทธธรรมเป็นอย่างดี สามารถวิเคราะห์ผู้มาขอคำปรึกษาตามจริตของแต่ละคน นำหลักธรรมต่างๆ เข้ามาประกอบในกระบวนการให้คำปรึกษา ได้เป็นอย่างดี กระบวนการในการให้คำปรึกษาตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาท มีขั้นตอนตามหลักอริยสัจ 4 คือ รู้ทุกข์ (ทุกข์) รู้สาเหตุของทุกข์ (สมุทัย) รู้ผลของการดับทุกข์ (นิโรธ) และรู้หนทางในการดับทุกข์ (มรรค)


           จากการวิจัยพบว่าคุณค่าการให้คำปรึกษาในรายบุคคลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาทนั้น คือใช้เยียวยารักษาโรคซึมเศร้าหรือโรคทางใจได้จริง ช่วยลดและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ ทำให้ผู้ให้คำปรึกษาต้องพัฒนาตนเองเสมอเพื่อครองตนตามคุณสมบัติของผู้ให้คำปรึกษา นำมาซึ่งประโยชน์ต่อตัวผู้ให้คำปรึกษาเองและส่งผลดีต่อครอบครัว การงาน และสุขภาพจิตของผู้ให้คำปรึกษาด้วยในงานการให้บริการให้คำปรึกษาเป็นเครื่องมือหรือรูปแบบการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพสูงและเหมาะกับผู้มารับคำปรึกษาที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และยังเป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รักษาความเป็นศาสนาพุทธ หรือศาสนาประจำชาติไว้ ให้สืบนานต่อไป

References

มหามกุฏราชวิทยาลัย. (2536). พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับครบรอบ 200 ปี แห่งราชวงศ์จักรี
กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช 2525. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย.

กรมสุขภาพจิต. กระทรวงสาธารณสุข. (2548) คู่มือการให้การปรึกษาขั้นพื้นฐาน. พิมพ์ครั้งที่ 5. นนทบุรี : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึก.

จำลอง ดิษยวณิช. (2554). จิตวิทยาของความดับทุกข์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ต้นบุญ.

ดาราวรรณ ต๊ะปินตา. (2555). ภาวะซึมเศร้า : การบำบัดและการให้การปรึกษาโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม. พิมพ์ครั้งที่ 1. เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์.

ดวงใจ กสานติกุล. (2542). โรคซึมเศร้าและโรคอารมณ์ผิดปกติ รักษาหายได้. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ธรณินทร์ กองสุขและคณะ. (2550). โรคซึมเศร้า : องค์ความรู้จากการทบทวนหลักฐานทางวิชาการ.พิมพ์ครั้งที่ 1. อุบลราชธานี : หจก.ศิริธรรมออฟเซ็ท.

พงษ์พันธ์ พงษ์โสภา. (2545). ทฤษฎีและเทคนิคการให้คำปรึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ธนธัชการพิมพ์.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2552). พุทธธรรม (ฉบับปรับปรุงและขยายความ). พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พีรพนธ์ ลือบุญธวัชชัย. (2553). การบำบัดรักษาทางจิตสังคมสำหรับโรคซึมเศร้า. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : บริษัทธนาเพรสจำกัด.

สวิตตา ธงยศ. (2554). ผลการให้คำปรึกษาแนวพุทธธรรมในผู้พยายามฆ่าตัวตายที่มีภาวะซึมเศร้าในโรงพยาบาลเรณู. (เอกสารอัดสำเนา).
Published
2019-12-31
How to Cite
กำหอม, ลำปาง; แสนมี, วิเชียร. การศึกษาเชิงวิเคราะห์การให้คำปรึกษาในรายบุคคลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ตามแนวพุทธปรัชญาเถรวาท. วารสารพุทธปรัชญาวิวัฒน์, [S.l.], v. 3, n. 2, p. 13-20, dec. 2019. ISSN 2730-2644. Available at: <http://705527.funfizzhk.tech/index.php/jbpe/article/view/854>. Date accessed: 29 nov. 2024.
Section
Research Article